- ลานกลางหาว -
ลานกลางหาว (Courtyard) เป็นพื้นที่เปิดโล่งบริเวณกลางบ้าน เพื่อเชื่อมต่อกับฟ้าดินตามหลักการออกแบบและหลักฮวงจุ้ยของจีน และยังมีประโยชน์ในการถ่ายเทอากาศจากภายนอกบ้านทำให้ภายในบ้านมีอากาศหมุนเวียนตลอด เพื่อช่วยในการปรับสมดุลของอุณหภูมิภายในบ้าน ส่งผลให้ภายในบ้านเย็นสบายเหมาะแก่การอยู่อาศัย การออกแบบเพิ่มเติมในส่วนลานกลางหาวคือการก่อผนังใหม่บริเวณที่ติดกับผนังด้านข้างบ้าน และเจาะช่องเปิดสองช่อง และใช้กระเบื้องปรุเคลือบสีเขียวกรุภายในช่องเปิด การเจาะช่องระบายอากาศบนผนังเพื่อลดทอนขนาดของผนังและไม่ให้ผนังบริเวณนี้ดูทึบตันจนเกินไป ตรงกลางของผนังออกแบบให้มีบ่อน้ำก่อขึ้นใหม่ตามข้อมูลจากการสัมภาษณ์บุคคลในพื้นที่ ส่วนพื้นที่ใต้ระเบียงมีร่องรอยบ่อน้ำเก่า ออกแบบให้ใช้ตะแกรงเหล็กและแผ่นอะครีลิคแบบใสปิดด้านบนบ่อ สามารถมองทะลุลงไปดูภายในบ่อได้ ส่วนด้านในสุดของผนังกลางหาวเป็นผนังที่มีประตูเชื่อมต่อไปยังห้องโถงบันไดด้านหลังบ้าน
บ่อน้ำเก่า
จากการขุดหลุมรอบเสาทุกต้นเพื่อเสริมโครงสร้างฐานราก ทำให้พบร่องรอยบ่อน้ำเก่าบริเวณกลางหาวอยู่ระหว่างผนังของบ้านทั้งสองห้อง บ่อน้ำเก่าใช้อิฐก่อบ่อซึ่งมีความโค้งใช้เฉพาะสำหรับการก่อบ่อน้ำ บ่อน้ำมีความกว้าง 80 ซม. สันนิษฐานว่าแต่เดิมบ่อน้ำเก่านี้เป็นบ่อน้ำที่อยู่ในบริเวณซึ่งเป็นสวนของบ้านข้างเคียง(บ้านขุนพิทักษ์รายาเดิม)
บ่อน้ำใหม่
บ่อน้ำใหม่เป็นบ่อน้ำที่ก่อขึ้นตามข้อมูลจากการสัมภาษณ์บุคคลในพื้นที่ชุมชนหัวตลาด ว่าเดิมทีบริเวณนี้มีบ่อน้ำซึ่งแบ่งครึ่งกับบ้านข้างเคียง แต่ในอดีตบ่อน้ำไม่ได้อยู่ในตำแหน่งกลางผนัง ต่อมาได้มีการออกแบบผนังขึ้นใหม่จึงออกแบบให้บ่อน้ำอยู่ตรงกลางของผนังและขนาบสองข้างด้วยช่องระบายอากาศภายในกรุด้วยกระเบื้องปรุเคลือบสีเขียว
กระเบื้องปรุเคลือบสีเขียว
ช่องระบายอากาศด้านข้างบ่อน้ำก่อใหม่ทั้งสองด้าน เป็นการออกแบบขึ้นมาใหมา ภายในช่องกรุด้วยกระเบื้องปรุเคลือบสีเขียว ซึ่งเป็นกระเบื้องปรุที่นำมาจากบ้านที่ได้รื้อถอนไปจากเหตุไฟไหม้ ของคุณเจริญ สุวรรณมงคล ซึ่งท่านเป็นสามีของคุณศรีสุมาลย์ สุวรรณมงคล
ช้างไม้แกะสลัก
ช้างไม้แกะสลักเป็นผลงานของช่างเพชรซึ่งเป็นชาวเชียงใหม่ ช่างเพชรเป็นช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญการแกะสลักไม้รูปช้างให้มีรายละเอียดใกล้เคียงกับช้างจริงมากที่สุด โดยช้างไม้แกะสลักชิ้นที่ประดับอยู่บนผนัง เป็นของสะสมของคุณศรีสุมาลย์และคุณเจริญ สุวรรณมงคล ซึ่งเป็นผลงานของช่างเพชรเมื่อปี พ.ศ.2539