- ห้องโถงต้อนรับ -
ห้องโถงต้อนรับได้ถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่รับแขกและพักคอย ผนังฝั่งขวามือเป็นผนังไม้เจาะช่องเพื่อให้เห็นผนังก่ออิฐเดิมเป็นฉากหลัง มีบันไดขึ้นชั้นสองเชื่อมไปยังห้องนอน ส่วนผนังด้านในสุดของห้องเป็นผนังลูกฟักและมีประตูบานเปิดคู่เชื่อมไปยังส่วนห้องครัว ผนังทางซ้ายมือมีประตูเชื่อมไปยังส่วนห้องบรรพบุรุษการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ภายในห้องโถงต้อนรับอ้างอิงตามภาพถ่ายในอดีตของคุณเจริญและคุณศรีสุมาลย์ สุวรรณมงคล ในปีพ.ศ.2499 ซึ่งถ่ายในบ้านขุนพิทักษ์รายา
พระยาอุดรธานีศรีโขมสาครเขตต์ (จิตร จิตตะยโศธร) ท่านคืออดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี คนที่10 ตั้งแต่ 21 ต.ค. 2478 – 31 ธ.ค. 2479 ท่านมีบุตรธิดาร่วมกับคุณวลัย วัฒนายากร คือ คุณศรีสุมาลย์ สุวรรณมงคล
นางวลัย (ซุ่ยเอี้ยน) คือธิดาของขุนพิทักษ์รายาและนางเซ่งขิ้ม (ธิดาหลวงพัฒน์ฯ สงขลา) นางวลัยมีสามี3คนคือ 1)นายซุ่นลิ่ม วัฒนายากร มีบุตรธิดาร่วมกัน 4 คน 2)พระยาอุดรธานี (จิตร จิตตะยโศธร) มีธิดาร่วมกัน 1 คน คือ นางศรีสุมาลย์ ซึ่งในขณะนั้นปีพ.ศ.2478 พระยาอุดรธานีได้ดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงประจำจังหวัดปัตตานี
คุณศรีสุมาลย์ ได้สมรสกับคุณเจริญ สุวรรณมงคล และมีบุตรธิดาด้วยกัน 5 คน คือ
- นายสุเชฎฐ์ สุวรรณมงคล
- นางสาวทิพย์วดี สุวรรณมงคล
- นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล
- นายอนุพาสน์ สุวรรณมงคล
- นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล
ชุดโต๊ะเก้าอี้แขนอ่อน
ชุดโต๊ะเก้าอี้แขนอ่อน นำมาจัดวางตามข้อมูลในอดีตที่พบจากภาพถ่ายของคุณศรีสุมาลย์ และคุณเจริญ สุวรรณมงคล ในปี พ.ศ.2499 ซึ่งถ่ายภายในบ้านขุนพิทักษ์รายาในช่วงงานแต่งงานของท่านทั้งสอง
กระเบื้องดินเผาปูพื้นหรืออิฐหน้าวัว
จากการสัมภาษณ์และรวบรวมข้อมูลในพื้นที่ ได้ข้อสันนิษฐานว่าเดิมพื้นที่ภายในบ้านปูด้วยกระเบื้องดินเผาหรืออิฐหน้าวัว และจากการศึกษาขนาดของอิฐหน้าวัวที่พบในพื้นที่ชุมชนหัวตลาดคือ 13x13นิ้ว หรือ 12x12นิ้ว แต่เนื่องจากเป็นขนาดกระเบื้องที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ การผลิตอิฐปั้นมือต้องใช้ความชำนาญในการเผาเป็นพิเศษ ไม่สามารถหาผู้ผลิตในพื้นที่ได้ กระเบื้องที่ใช้จึงจำเป็นต้องสั่งจากเตาเผาอิฐลุงอนันต์ ใหม่บุญเรือง บ้านช่างทอง ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ การผลิตใช้เวลาค่อนข้างนานเนื่องจากกระเบื้องแผ่นใหญ่การควบคุมอุณหภูมิและเวลาในการเผาต้องสัมพันธ์กัน กระเบื้องที่ออกจากเตาเผาแต่ละครั้งมีจำนวนที่สามารถใช้งานได้ประมาณ ร้อยละ40ของกระเบื้องที่นำเข้าเตาเผาทั้งหมด
บันไดเก่า
บันไดนี้เป็นบันไดเดิมของบ้าน ได้มีการปรับปรุงไม้ราวระเบียงบางส่วนที่มีความชำรุด ให้สามารถใช้งานได้ เป็นบันไดที่เชื่อมไปยังโถงบันไดชั้นสองซึ่งเป็นส่วนเชื่อมระหว่างห้องนอนและห้องอเนกประสงค์ พื้นที่ใต้บันได ได้มีการปรับปรุงเป็นห้องงานระบบไฟฟ้า
ผนังรับน้ำหนักแบบอิฐก่อ
ระบบโครงสร้างที่พบภายในบ้านขุนพิทักษ์รายา สามารถแบ่งได้เป็นสองชุดโครงสร้าง คือส่วนของโครงสร้างผนังรับน้ำหนักชั้น1และส่วนของโครงสร้างไม้ ซึ่งโครงสร้างทั้งสองส่วนนี้สันนิษฐานว่าไม่ได้ก่อสร้างในยุคสมัยเดียวกัน กล่าวคือผนังรับน้ำหนักได้ถูกก่อสร้างขึ้นก่อนดังเช่นบ้านหลังอื่นๆที่สร้างอยู่ในย่านหัวตลาดซึ่งเป็นรูปแบบโครงสร้างที่เป็นที่นิยมในยุคแรก อิฐที่ใช้ก่อ มีขนาดกว้าง 15 ซม.ยาว31ซม หนา4ซม เป็นอิฐซึ่งพบเป็นที่นิยมภายในพื้นที่ในยุคนั้น โดยผนังรับน้ำหนักด้านฝั่งที่ติดกับบ้านข้างเคียงเป็นผนังที่ใช้ร่วมกัน ในเวลาต่อมาเจ้าของบ้านได้ปรับปรุงบ้านให้มีความสูงโปร่งมากขึ้นและเพิ่มพื้นที่พักอาศัย จึงได้ทุบผนังรับน้ำหนักฝั่งด้านข้างบ้านที่ติดกับท่าน้ำในส่วนบนออกเหลือความสูง3.20เมตร และได้เพิ่มระบบโครงสร้างเสา-คานไม้เพื่อรับน้ำหนักพื้นชั้นสองและโครงสร้างหลังคา