ห้องครัว

- ห้องครัว -

พื้นที่ส่วนห้องครัวเป็นห้องที่เชื่อมต่อจากส่วนห้องโถงต้อนรับ ฝั่งขวามือของห้องมีประตูแบบจีนฮกเกี้ยนซึ่งมีอยู่เดิมสามารถเปิดออกไปด้านข้างบ้านได้ และมีหน้าต่างแบบจีนฮกเกี้ยนอยู่ข้างเคียง ส่วนผนังทางซ้ายมือของห้อง เป็นผนังที่กั้นระหว่างส่วนห้องครัวและห้องโถงกลางหาว ในส่วนผนังบริเวณที่ตรงกับโถงกลางหาว ออกแบบให้มีการเจาะช่องระบายอากาศโดยใช้เหล็กกลม ติดตั้งภายในช่องเปิดเพื่อให้ภายในห้องครัวได้รับแสงเพียงพอและเป็นการสร้างระบบหมุนเวียนอากาศ ส่วนด้านในสุดของห้อง ออกแบบให้มีครัวเตาถ่านแบบในอดีต โดยการอ้างอิงรูปแบบเตาจากบ้านของชาวเปอรานากันในรัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย ด้านข้างเตามีประตูเปิดไปยังส่วนที่เป็นห้องเก็บของ ซึ่งเป็นประตูแบบจีนฮกเกี้ยนที่มีอยู่เดิม จากห้องครัวสามารถเดินทะลุไปยังห้องโถงบันไดด้านหลังบ้านได้ พื้นของห้องเป็นพื้นกระเบื้องซีเมนต์ที่สั่งทำขึ้นใหม่โดยอ้างอิงลวดลายและสีจากกระเบื้องซีเมนต์เดิม

ห้องครัวและห้องรับประทานอาหาร

  1. ประตูแบบจีนฮกเกี้ยน

พบ3จุดภายในบ้านคือด้านหลังบ้านทั้ง2ห้อง และประตูทางออกด้านข้างบ้าน ประตูแบบจีนฮกเกี้ยนมีลักษณะแตกต่างจากประตูบานเปิดแบบจีนทั่วไปคือ มีระบบล็อกที่มีระบบเดือยด้านข้างคอยขัดตัวสลักไม้ไว้ วิธีการปลดล็อกคือ ยกเดือยด้านข้างขึ้นก่อนถึงจะถอดสลักประตูได้ บานประตูชนิดนี้มักจะเปิดเข้าด้านในตัวบ้าน

เหล็กดัดรูปนกคู่

หน้าต่างด้านข้างบ้านชั้นหนึ่งพบเหล็กดัดเป็นลวดลายนกคู่ซึ่งการสั่งทำเหล็กดัดพิเศษเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละบ้าน พบเป็นที่นิยมในพื้นที่ตั้งแต่ช่วงยุคพ.ศ.2475เป็นต้นมา

เตาไฟ

เตาไฟก่อใหม่แบบใช้ฟืน การออกแบบเตาไฟ โดยการอ้างอิงรูปแบบเตาจากบ้านของชาวเปอรานากันในรัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย และอ้างอิงข้อมูลจากครัวภายในบ้านในชุมชนหัวตลาด

กระเบื้องซีเมนต์ใหม่

จากการปรับระดับพื้นใหม่บริเวณห้องครัว ทำให้มีความจำเป็นต้องเทพื้นใหม่ทับหน้าพื้นกระเบื้องซีเมนต์เดิม จึงได้มีการสั่งผลิตกระเบื้องซีเมนต์ที่มีลวดลายเดิมมาปูใหม่ จากบริษัท กระเบื้องไม้งาม จ.เชียงใหม่ โดยกระเบื้องที่สั่งผลิตนี้เป็นวิธีการผลิตสมัยใหม่ ใช้การสกรีนลายลงบนเนื้อกระเบื้องซีเมนต์เพื่อให้ได้ลวดลายกระเบื้องที่ใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด

กระเบื้องซีเมนต์เก่าที่พบภายในบ้าน

กระเบื้องซีเมนต์ตัวอย่างเทียบกับกระเบื้องเก่า