- ห้องนิทรรศการ -
ภายในห้องนิทรรศการจัดแสดงเรื่องราวการบูรณะฟื้นฟูบ้านขุนพิทักษ์รายา ประกอบด้วย ภาพก่อน-หลังการบูรณะ ภาพเศษถ้วยชามที่ขุดพบ วัสดุดั้งเดิมที่พบภายในบ้าน เป็นต้น โดยพื้นภายในห้องนิทรรศการเป็นพื้นกระเบื้องซีเมนต์เดิมของบ้านที่ตั้งใจเก็บรักษาไว้ให้คงร่องรอยในรูปแบบเดิม มีบันไดที่เชื่อมไปยังชั้นสองข้องบ้าน และผนังด้านในสุดของห้องมีประตูแบบจีนฮกเกี้ยน
กระเบื้องดินเผามุงหลังคาแบบปลายแหลม
วัสดุมุงหลังคาใช้กระเบื้องดินเผามุงหลังคาแบบปลายแหลม ซึ่งเป็นวัสดุที่เป็นที่นิยมในพื้นที่ จากการรื้อหลังคาเพื่อซ่อมแซม พบกระเบื้องเก่าที่มีร่องรอยการเขียนคล้ายตัวอักษรอาหรับอยู่ด้านหลัง จึงได้นำกระเบื้องให้ผู้ที่มีความรู้ด้านภาษาอาหรับตรวจสอบ ได้ข้อสันนิษฐานว่าเป็นตัวอักษรอาหรับ หมายถึง ‘กระเบื้องดินเผาผลิตที่กรือเซะ’ สันนิษฐานว่าเป็นกระเบื้องที่ผลิตจากเตาเผาภายในพื้นที่ ตรงกับหลักฐานในเอกสารเก่าว่าเมื่อก่อนมีโรงกระเบื้องที่ทำกระเบื้องแบบสงขลาอยู่ในพื้นที่หลายโรงเผา เช่น บริเวณกรือเซะ บริเวณโรงอ่าง บริเวณตะลุโบะ เป็นต้น
จักรยานคานคู่
จักรยานคานคู่คันนี้นำมาจัดวางเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการเริ่มต้นชีวิตการทำงานของคุณเจริญ สุวรรณมงคล เมื่อขณะท่านอายุ 16-17 ปี ท่านเป็นพนักงานเก็บค่าไฟฟ้าของบริษัท ไฟฟ้าปัตตานี จำกัด ซึ่งขุนธำรงพันธุ์ภักดีเป็นเจ้าของ
กระเบื้องซีเมนต์ (Cement tile)
เนื้อกระเบื้องทำจากปูนขาวพอร์ตแลนด์ผสมกับเนื้อสีแล้วจึงเทลงแบบแม่พิมพ์โลหะ และกดด้วยมือ ต่อมาพัฒนาเป็นแรงดันไฮโดรลิค ทำให้เนื้อสีบนกระเบื้องมีความคงทนไม่หลุดร่อนโดยง่าย กระเบื้องชนิดนี้เป็นที่นิยมตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่5พบการนำเข้าจากฝั่งยุโรป
เสาเอกและตอม่อแบบอิฐก่อ
ระบบฐานรากแบบอิฐก่อเป็นตอม่อ โดยที่เสาไม้จะวางลงบนตอม่ออิฐโดยตรง ทำให้เสาไม้ในส่วนใต้ดินไม่สัมผัสกับพื้นดินโดยตรง ป้องกันความชื้นทำลายเนื้อไม้ การก่อตอม่อใช้อิฐขนาด15 ซม.ยาว31ซม หนา4ซม ในขั้นตอนการขุดสำรวจฐานรากพบบริเวณเสาที่คาดว่าเป็นเสาเอกของบ้าน ไม่พบการก่อตอม่อด้วยอิฐ
เศษถ้วยชามแบบจีนค้นพบระหว่างการขุดตอม่อ
ตะปูชุบสังกะสี
ตะปูชุบสังกะสีคือตะปูใหม่ที่เลือกนำมาใช้ในการบูรณะบ้านขุนพิทักษ์รายา สาเหตุในการเลือกใช้ตะปูชนิดนี้คือเป็นตะปูที่มีความคงทนต่อสภาพอากาศและไอเค็มทะเล เนื่องจากที่ตั้งของบ้านอยู่พื้นที่ที่ได้รับไอเค็มจากทะเลค่อนข้างมาก เป็นตะปูชนิดเดียวกับตะปูที่ใช้ในการต่อเรือ และด้วยลักษณะของตะปูที่เป็นสี่เหลี่ยมยังช่วยในการป้องกันการบิดของเนื้อไม้
การเลือกใช้สี
การกำหนดสีของวัสดุภายในอาคารได้อ้างอิงจากการสัมภาษณ์ รวบรวมหลักฐานภาพถ่ายเก่า และการขูดเนื้อสีจากวัสดุภายในบ้านเพื่อใช้ประกอบการเลือกใช้สีให้เกิดความเหมาะสมทั้งในด้านหลักวิชาการและความสวยงามโดยสีหลักที่เลือกใช้ภายในบ้านคือสีครีม ทาบริเวณผนังไม้ทั้งหมด ส่วนคู่สีสีฟ้าและสีน้ำเงิน ใช้ทาบริเวณประตูและหน้าต่างภายในบ้านทั้งหมด
การใช้คู่สีน้ำเงิน-ฟ้า
จากร่องรอยของสีที่หลุดร่อนจนถึงชั้นในสุดเผยให้เห็นการใช้สีน้ำเงินบริเวณกรอบของหน้าต่างยาวชั้นสอง ส่วนในลูกฟักหน้าต่างพบเป็นสีฟ้าอ่อน ซึ่งจากการเปรียบเทียบโทนสีบน ภาพถ่ายเก่าสีขาว-ดำพบว่าเมื่อประมาณ 77 ปีก่อน เฉดของผนังและเฉดของหน้าต่าง มีความแตกต่างกัน ซึ่งตรงกับข้อมูลการขูดสี ณ ปัจจุบัน และเมื่อสำรวจการใช้สีของอาคารอื่นๆในย่านหัวตลาดพบการใช้คู่สีน้ำเงินและสีฟ้าเช่นเดียวกัน แสดงให้เห็นว่าคู่สีนี้เคยเป็นที่นิยมภายในย่าน
ระบบไฟฟ้า
การออกแบบระบบไฟฟ้าแสงสว่างแบ่งออกเป็นแสงสว่างทั่วไปและแสงไฟฟ้าส่องเน้นอาคาร ในส่วนแสงสว่างทั่วไปจะเดินไฟฟ้าโดยการใช้ลูกเซรามิกแบบในอดีต สำหรับแสงไฟฟ้าส่องเน้นอาคารจะใช้การเดินไฟแบบซ่อน สวิทซ์ไฟเลือกใช้เป็นสวิทซ์ทองเหลืองทรงฟักทอง ฐานเป็นเซรามิก ซึ่งเป็นของเก่าที่หามาเพื่อให้เข้ากับตัวบ้าน เต้ารับไฟเป็นงานที่ผลิตขึ้นใหม่เพื่อรองรับการใช้งานในปัจจุบัน