- ห้องบรรพบุรุษ -
ห้องบรรพบุรุษเป็นพื้นที่ตั้งรูปเคารพของบรรพบุรุษและโต๊ะหมู่บูชา ผนังส่วนที่ตั้งรูปเคารพมีช่องทางเดินสองข้างเชื่อมต่อไปยังพื้นที่กลางหาว โดยด้านหลังผนังลูกฟักจะมีพื้นที่เล็กน้อย หากเลี้ยวขวาสามารถเชื่อมไปยังห้องโถงต้อนรับ และมีประตูกั้นระหว่างส่วนกลางหาวและห้องบรรพบุรุษอีกชั้นหนึ่ง ผนังของห้องบรรพบุรุษฝั่งซ้ายมือเป็นผนังไม้ตีแนวนอนและเจาะช่องเปิดเพื่อให้เห็นผนังก่ออิฐเดิม
ประวัติเจ้าของบ้าน
ขุนพิทักษ์รายา (ตันบั่นซิ่ว) ท่านเป็นบุตรชายของ พระจีนคณานุรักษ์ (จูล่าย ตันธนวัตน์) และนางเบ้งซ่วน แซ่จุ่ง เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน 10 ปีมะแม (พ.ศ. 2413) ซึ่งท่านมีหน้าที่เป็นผู้จัดการศาลเจ้าเล่งจูงเกียงคนที่ 4
ที่ดินบริเวณบ้านขุนพิทักษ์รายานี้ ท่านได้แบ่งให้กับลูกหลาน สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน โดยที่ดินแบ่งออกเป็นสองแปลง ที่ดินฝั่งหัวมุมถนนคือที่ตั้งของบ้านนางวลัย วัฒนายากร ธิดาของขุนพิทักษ์รายา กับนางเซ่งขิ้ม และเป็นมารดาของคุณศรีสุมาลย์ สุวรรณมงคล ซึ่งต่อมาในปัจจุบันบุตรชายคนที่ 4 ของคุณศรีสุมาลย์ คือ คุณอนุพาสน์ สุวรรณมงคล ท่านคือผู้คิดริเริ่มการบูรณะฟื้นฟูบ้านขุนพิทักษ์รายา ซึ่งบ้านหลังนี้ถือได้ว่าเป็นบ้านของต้นตระกูลที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ที่อยู่ในภาวะชำรุดทรุดโทรม ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่สนใจการอนุรักษ์ฟื้นฟูบ้านเก่าภายในย่าน ให้ได้มีองค์ความรู้และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดูแลบ้านเก่าของตนเอง
เก้าอี้หวาย
เก้าอี้หวายชุดนี้เป็นการจัดวางตามคำทรงจำของคุณศรีสุมาลย์ สุวรรณมงคล บุตรสาวของคุณวลัย วัฒนายากร (ซุ่ยเอี้ยน) ในสมัยที่คุณวลัยหรือยายมลยังมีชีวิตอยู่ ท่านจะนั่งถักโครเชต์อยู่บริเวณนี้ทุกๆวัน ซึ่งเป็นภาพวิถีชีวิตของยายมลที่อยู่ในความทรงจำชาวชุมชนหัวตลาด
ผนังรับน้ำหนักแบบอิฐก่อ
ระบบโครงสร้างที่พบภายในบ้านขุนพิทักษ์รายา สามารถแบ่งได้เป็นสองชุดโครงสร้าง คือส่วนของโครงสร้างผนังรับน้ำหนักชั้น1และส่วนของโครงสร้างไม้ ซึ่งโครงสร้างทั้งสองส่วนนี้สันนิษฐานว่าไม่ได้ก่อสร้างในยุคสมัยเดียวกัน กล่าวคือผนังรับน้ำหนักได้ถูกก่อสร้างขึ้นก่อนดังเช่นบ้านหลังอื่นๆที่สร้างอยู่ในย่านหัวตลาดซึ่งเป็นรูปแบบโครงสร้างที่เป็นที่นิยมในยุคแรก อิฐที่ใช้ก่อ มีขนาดกว้าง 15 ซม.ยาว31ซม หนา4ซม เป็นอิฐซึ่งพบเป็นที่นิยมภายในพื้นที่ในยุคนั้น โดยผนังรับน้ำหนักด้านฝั่งที่ติดกับบ้านข้างเคียงเป็นผนังที่ใช้ร่วมกัน ในเวลาต่อมาเจ้าของบ้านได้ปรับปรุงบ้านให้มีความสูงโปร่งมากขึ้นและเพิ่มพื้นที่พักอาศัย จึงได้ทุบผนังรับน้ำหนักฝั่งด้านข้างบ้านที่ติดกับท่าน้ำในส่วนบนออกเหลือความสูง3.20เมตร และได้เพิ่มระบบโครงสร้างเสา-คานไม้เพื่อรับน้ำหนักพื้นชั้นสองและโครงสร้างหลังคา