- ประวัติความเป็นมา -
บ้านขุนพิทักษ์รายาเป็นเรือนแถว 2 ชั้น 2 คูหา 2 ช่วงเสา รูปแบบของตึกแถวมีการประยุกต์ระหว่างสถาปัตยกรรมในท้องถิ่นและสถาปัตยกรรมจีน มีอายุประมาณ 90-120 ปี ชั้นหนึ่งของอาคารมีโครงสร้างเป็นผนังรับน้ำหนักโดยใช้อิฐก่อและฉาบด้วยปูน โดยผนังฝั่งที่ติดข้างบ้านเป็นการใช้ผนังร่วมกัน ซึ่งเป็นบ้านที่เป็นพี่น้องกัน โดยผนังฝั่งนี้ยังพบร่องรอยของระดับหลังคาเดิมของบ้านก่อนที่จะมีการปรับปรุงมาเป็นรูปแบบที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ชั้นสองของอาคารเป็นโครงสร้างเสาคาน เสาไม้เชื่อมต่อลงมาถึงชั้นหนึ่งของบ้าน หลังคาส่วนหน้าอาคารเป็นทรงจั่ว ส่วนหลังของอาคารเป็นทรงปั้นหยา มีพาลัยหลังคาทั้งชั้นหนึ่งและชั้นสองของอาคาร โดยหลังคาทั้งหมดมุงด้วยกระเบื้องดินเผามุงหลังคาแบบปลายแหลม ลักษณะการเจาะช่องเปิด ชั้นล่างฝั่งหน้าบ้านเป็นประตูบานเฟี้ยม 10พับ ลายสายฝนด้านบนมีช่องลมเพื่อระบายอากาศ ชั้นล่างฝั่งด้านข้างบ้านมีประตูบานเปิดแบบจีนขนาบข้างด้วยหน้าต่าง ทางฝั่งหลังบ้านมีประตูแบบจีนจำนวน 2 บาน ชั้นบนทั้งหมดของอาคารมีลักษณะเป็นผนังไม้ตีแนวนอนแบบเข้าลิ้นไม้ และมีหน้าต่างลูกฟักแบ่งสามช่วงเปิดยาวถึงพื้น โดยลูกฟักกลางเป็นบานเกล็ดเปิดกระทุ้ง ด้านหน้าอาคารมีหน้าต่างยาวจำนวน 2 บาน และเหนือกรอบหน้าต่างเป็นช่องแสงกรุกระจก ส่วนฝั่งด้านข้างบ้านเป็นผนังไม้และมีหน้าต่างลูกฟักเช่นเดียวกับด้านหน้าบ้านจำนวน 5 บานและฝั่งด้านหลังบ้านอีก 2 บาน เหนือกรอบบานมีช่องลมตลอดแนว
การวางผังของบ้านแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก โดยยังยึดถือคติความเชื่อในการวางผังใน
รูปแบบเดิม คือ ส่วนด้านหน้าเป็นพื้นที่กึ่งส่วนตัว (Semi Private) ส่วนด้านหลังบ้านและชั้นสองใช้สำหรับพักผ่อน (Private) พื้นที่ทั้งสองถูกเชื่อมด้วยลานกลางหาว (Courtyard) หรือฉิมแจ้ ตามหลักฮวงจุ้ย เป็นที่ตั้งของบ่อน้ำและยังมีประโยชน์ในการถ่ายเทอากาศจากภายนอกบ้านทำให้ภายในบ้านมีอากาศหมุนเวียนตลอด เพื่อช่วยปรับสมดุลอุณหภูมิภายในบ้าน ส่งผลให้ภายในบ้านเย็นสบายเหมาะแก่การอยู่อาศัย
บ้านขุนพิทักษ์รายาตั้งอยู่ในย่านหัวตลาดหรือย่านตลาดจีน ถนนปัตตานีภิรมย์ จังหวัดปัตตานี ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่จังหวัดปัตตานีและเป็นภาพสะท้อนความเจริญรุ่งเรืองของย่านนี้ พื้นที่ชุมชนหัวตลาด เป็นพื้นที่ย่านการค้าและพักอาศัยของชุมชนชาวจีนกลุ่มแรกๆที่เข้ามายังปัตตานี มีถนนปัตตานีภิรมย์ตัดเลียบขนานกับแม่น้ำปัตตานี ถัดมาเป็นถนนอุดมวิถีและถนนนาเกลือ มีถนนที่ตัดตั้งฉากและเชื่อมถนนสามเส้นนี้คือ ถนนอาเนาะรู ถนนมายอ ถนนฤาดี ถนนปรีดาและถนนพิพิธ ซึ่งทั้งสองชุมชน พบบ้านเรือนและร้านค้าของชาวไทยเชื้อสายจีนอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบริเวณถนนอาเนาะรูซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ต่อมายังถนนปัตตานีภิรมย์ซึ่งวิ่งขนานกับแม่ปัตตานี ในอดีตแม่น้ำปัตตานีเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่ใช้ในการคมนาคม อีกทั้งแม่น้ำปัตตานียังไหลเข้ามาในสู่แผ่นดิน แตกแขนงเป็นแม่น้ำลำคลองสายย่อยๆ หนึ่งในนั้นคือ คลองอาเนาะซูงา ซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนอาเนาะซูงา มีสมาชิกในชุมชนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม
ประวัติเจ้าของบ้าน
ที่ดินบริเวณบ้านขุนพิทักษ์รายานี้ ท่านได้แบ่งให้กับลูกหลาน สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน
โดยที่ดินแบ่งออกเป็นสองแปลง ที่ดินฝั่งหัวมุมถนนคือที่ตั้งของบ้านนางวไล วัฒนายากร ธิดาของขุนพิทักษ์รายา กับนางเซ่งขิ้ม และเป็นมารดาของคุณศรีสุมาลย์ สุวรรณมงคล ซึ่งต่อมาในปัจจุบันบุตรชายคนที่ 4 ของคุณศรีสุมาลย์ คือ คุณอนุพาสน์ สุวรรณมงคล ท่านคือผู้คิดริเริ่มการบูรณะฟื้นฟูบ้านขุนพิทักษ์รายา ซึ่งบ้านหลังนี้ถือได้ว่าเป็นบ้านของต้นตระกูลที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ที่อยู่ในภาวะชำรุดทรุดโทรม ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่สนใจการอนุรักษ์ฟื้นฟูบ้านเก่าภายในย่าน ให้ได้มีองค์ความรู้และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดูแลบ้านเก่าของตนเอง
พระจีนคณานุรักษ์ (จูล่าย ตันธนวัฒน์) ที่มา : หนังสือสมบัติปัตตานี, เอนก นาวิกมูล
ขุนพิทักษ์รายา (บั่นซิ่ว) ท่านเป็นบุตรของพระจีนคณานุรักษ์ (จูล่าย ตันธนวัฒน์) และนางเบ้งซ่วน แซ่จุ่ง เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน 10 ปีมะแม (พ.ศ.2413) มีภรรยา 2 คน ได้แก่
ภรรยาคนที่ 1 นางเซ่งขิ้ม ธิดาหลวงพัฒน์ฯ สงขลา มีบุตร 1 คน ธิดา 4 คน คือ
- นางซุ่ยสิ้ม
- นางสร้อยทอง (ซุ่ยถ้อง)
- นางซุ่ยห้อง
- นางวไล (ซุ่ยเอี้ยน)
- นายดิเรก (ซุ่ยเหรก)
ภรรยาคนที่ 2 นางเอียด แก้วมณี มีบุตร 5 คน ธิดา 4 คน คือ
- นายไพสาร (นายปี)
- นางเคี่ยน (ซุ่ยเกี่ยน)
- นายปรีชา (เอ่ง)
- นางสุนันทา (กิ้น)
- นายวิสุทธิ์ (เล่ง)
- นายวิศิษฐ์ (นายโป๋)
- นางวรรณี (แอ๊ะหรือน้องเล็ก)
- นางสาวอังคณา
- นายวิรัช (อั้น)
อ้างอิงข้อมูลจากหนังสือทายาทหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง,หน้า 154
นางวไล วัฒนายากร (ซุ่ยเอี้ยน) คือ ธิตาของขุนพิทักษ์รายา และนางเช่งขิ้ม(ริตาหลวงพัฒน์ๆ สงขลา) นางวไล มีธิดาร่วมกับพระยาอุดรธานี (จิตร จิตตะยโศธร) 1 คน คือ นางศรีสุมาลย์ ซึ่งในขณะนั้นปี พ.ศ.2478 พระยาอุดรธานี ดำรงตำแหน่งชการจังหวัดปัตตานีคนที่ 10
คุณศรีสุมาลย์ ได้สมรสกับคุณเจริญ สุวรรณมงคล และมีบุตรธิดาด้วยกัน 5 คน คือ
- นายสุเชฎฐ์ สุวรรณมงคล
- นางสาวทิพย์วดี สุวรรณมงคล
- นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล
- นายอนุพาสน์ สุวรรณมงคล
- นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล
คุณอนุพาสน์ สุวรรณมงคล ทายาทรุ่นที่4 คือผู้คิดริเริ่มและผู้ดูแลโครงการการอนุรักษ์ฟื้นฟูบ้านขุนพิทักษ์รายา ซึ่งบ้านหลังนี้ถือได้ว่าเป็นบ้านของต้นตระกูลที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ที่อยู่ในภาวะชำรุดทรุดโทรม ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่สนใจการอนุรักษ์ฟื้นฟูบ้านเก่าภายในย่าน ให้ได้มีองค์ความรู้และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดูแลบ้านเก่าของตนเอง
ความสำคัญกับเมืองและประวัติศาสตร์เมือง
บ้านขุนพิทักษ์รายามีประวัติศาสตร์ร่วมกับเมืองคือ เป็นภาพสะท้อนความเจริญของเมืองในอดีตและการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวจีน ซึ่งได้มีการประยุกต์และปรับตัวให้เข้ากับการอยู่อาศัยในพื้นที่ชุมชนหัวตลาด
อีกทั้งยังมีการบันทึกกล่าวถึงตำแหน่งของบ้านขุนพิทักษ์รายาในสมัยรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสปัตตานี และมีภาพบ้านขุนพิทักษ์รายาปรากฏอยู่ในภาพถ่ายในช่วงปี พ.ศ.2484 ที่มีเหตุการณ์ยกพลขึ้นบกของกองทัพญี่ปุ่น