- ขั้นตอนการฟื้นฟูอนุรักษ์ -
2. การประเมิน ความแท้และบูรณภาพ
หลังขั้นตอนการเข้าสำรวจพื้นที่ภายในบ้านและคัดแยกส่วนต่อเติมที่ไม่มีความแท้ของอาคารออก พบว่าโครงสร้างหลักของบ้านมีความแท้และส่วนของผนังโดยรอบ พิจารณารื้อถอนส่วนการกั้นพื้นที่ใช้งานภายในที่มีการปรับปรุงโดยผู้เช่า ทำให้จำเป็นต้องพิจารณาการกั้นพื้นที่ใช้งานใหม่จากร่องรอยที่พบบนโครงสร้างในบ้านและข้อมูลเพิ่มเติมจากอาคารข้างเคียง
4. ขั้นตอนการก่อสร้าง
การสร้างหลังคาคลุมชั่วคราวพื้นที่บ้าน เพื่อป้องกันแดด ลม ฝนระหว่างการรื้อถอนหลังคากระเบื้องดินเผาออกเนื่องจากมีความเสียหายมาก เพื่อไม่ให้ภายในอาคารเกิดความชื้น โดยการก่อสร้างหลังคาคลุมจะใช้นั่งร้านเป็นโครงสร้าง และใช้แผ่นหลังคาเมทัลชีทคลุมให้อยู่สูงขึ้นกว่าระดับหลังเดิม เพื่อให้สามารถทำงานในพื้นที่เหนือหลังคาได้ ส่วนพื้นที่ด้านหน้าบ้านใช้วัสดุปิดทึบและให้มีประตูทางเข้าออกที่มิดชิด จัดให้มีป้ายบอกชื่อโครงการและรายละเอียดการฟื้นฟูอนุรักษ์บ้านขุนพิทักษ์รายา ทางด้านข้างบ้านใช้แสลนเขียวคลุมโดยรอบเพื่อป้องกันวัสดุก่อสร้างกระเด็นออกนอกพื้นที่ก่อสร้าง
การขนย้ายหลังคากระเบื้องดินเผาปลายแหลมลงเพื่อทำความสะอาด และคัดแยกกระเบื้องส่วนที่แตกออก และนับจำนวนกระเบื้องที่จำเป็นต้องสั่งเพิ่มเติม อีกทั้งจำเป็นต้องซ่อมโครงสร้างหลังคาที่มีความชำรุดเสียหาย การขนย้ายกระเบื้องดินเผาต้องใช้ความระมัดระวังและจัดเรียงเก็บกระเบื้องให้เรียงเอาสันของแผ่นกระเบื้องขึ้นเพื่อป้องกันการเสียหาย และวางอยู่ในลังผลไม้รูปทรงสี่เหลี่ยมเพื่อให้สะดวกต่อการขนย้าย คัดแยกกระเบื้องหลังคาที่เสียหายทิ้งเหลือจำนวนกระเบื้องหลังคาที่สามารถใช้งานได้ประมาณ 5,000 แผ่น โดยกระเบื้องที่ต้องใช้จริงทั้งหมด 25,000 แผ่น จึงจำเป็นต้องสั่งเพิ่มอีกจำนวน 20,000 แผ่น หลังจากการขนย้ายกระเบื้องดินเผาลงจากหลังคาแล้วนำไปขัดทำความสะอาดด้วยแปรงและฟองน้ำทั้งสองด้าน และผึ่งให้แห้ง โดยทางเจ้าของโครงการนำโดยคุณอนุพาสน์ สุวรรณมงคลได้ออกหนังสือเชิญให้กับผู้จัดการและพนักงานกลุ่มอีซูซุหาดใหญ่ เพื่อร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมโดยการขัดล้างกระเบื้องดินเผาในวันที่ 16 กันยายน 2560 หลังจากการขัดล้างกระเบื้องแล้วตากกระเบื้องให้แห้ง จึงทาเพื่อป้องกันความชื้น โดยทาน้ำยาเฉพาะบริเวณด้านหลังของกระเบื้องทั้งกระเบื้องเก่าและกระเบื้องใหม่เพื่อให้กระเบื้องยังสามารถหายใจได้ เลือกทาเฉพาะด้านหลังเพราะต้องการให้กระเบื้องด้านบนมีการเปลี่ยนแปลงเข้ากับบริบทบ้านภายในชุมชน ทาน้ำยา 2 รอบ ระยะห่าง 1วันต่อ 1รอบ ห้ามใช้การจุ่มกระเบื้องลงน้ำยาเด็ดขาดเพราะจะทำให้ความชื้นสะสมด้านในกระเบื้อง
เมื่อทำการรื้อถอนพื้นและผนังหลังจากการประเมินความแท้และบูรณภาพแล้ว พบว่าอาคารมีการล้มเอียง เพราะตัวบ้านติดกับแม่น้ำทำให้หลังบ้านทรุดตัวลงและเสาชุดด้านหลังบ้านมีระดับที่ต่ำกว่าชุดด้านหน้าบ้าน ทำให้เกิดความเสียหายกับโครงสร้างหลักของอาคาร จึงจำเป็นต้องมีการปรับระดับอาคาร
การยกปรับระดับอาคารด้วยแม่แรงเพื่อทำการเสริมโครงสร้างของฐานราก และหาค่าระดับ 0.00 ของอาคาร โดยที่การดามโครงสร้างทั้งหมดต้องมีความมั่นคงแข็งแรง
การปรับศูนย์ของโครงสร้างที่วิกฤตหรือล้มเอียง ประกอบด้วยการปรับระดับและการปรับดิ่งเสา การปรับระดับของเสาต้องปรับทีละชุด โดยเริ่มจากการวัดระดับน้ำหาเสาต้นที่สูงที่สุด คือ เสา(A1)จึงอ้างอิงเป็นระดับ 0.00 ของเสา หลังจากนั้นจึงเริ่มปรับระดับเสาต้นอื่นๆที่อยู่โดยรอบเสาที่ใช้ในการอ้างอิงให้ได้ระดับ 0.00ต่อไป และในขณะเดียวกันก็ทำการปรับดิ่งเสาต้นนั้นๆเลย
ขณะทำการขุดรอบตีนเสาเพื่อปรับระดับของเสาบ้าน พบโครงสร้างตอม่อเดิม ซึ่งใช้อิฐดินเผาขนาด 15x31 ซม. สูง 4 ซม. เรียงตามภาพที่.... พบว่ามีความผุกร่อนตามกาลเวลา
ยกเว้นบริเวณตีนเสา B3 ไม่พบตอม่อ จึงขุดไปที่ความลึกประมาณ 80 ซม.เพื่อวางเหล็กตะกร้อ ในขณะขุดพบชิ้นส่วนภาชนะเก่าจึงสันนิษฐานว่าเป็นเสาเอก จึงได้นำมารวบรวมและถ่ายภาพเก็บข้อมูลและใส่กลับลงหลุมตามเจตนาเจ้าของบ้าน
ขั้นตอนการเสริมโครงสร้างฐานราก
- การวางแผนร่วมกับวิศวกร
- ขุดหลุมรอบตีนเสา ขนาด 1x1 เมตร (ความกว้างจากต่อม่อเดิมด้านละ 15 ซม)ความลึกประมาณ 80 ซม.
- ผูกเหล็กตะกร้อ(RB16)ครอบรอบตอม่อเดิมตามแบบ เพื่อเป็นโครงสร้างในการเทฐานรากใหม่ ทำตามสามขั้นตอนนี้ในเสาทุกๆต้น ยกเว้นเสาเอกที่ไม่มีตอม่อให้ผูกเหล็กตะกร้อ(RB16)รอบตีนเสาแล้วจึงเทคอนกรีต
การบูรณะพื้นภายในบ้านแบ่งเป็นพื้นชั้นล่างและพื้นชั้นบน
พื้นชั้นล่าง
จากขั้นตอนการบูรณะตามข้อที่ 4.1 ถึง 4.4 พบว่าพื้นกระเบื้องซีเมนต์ภายในห้องโถงด้านหลังบ้านมีความสมบูรณ์จึงเก็บรักษาพื้นภายในห้องนี้ไว้เพื่อแสดงคุณค่าของบ้าน
แต่จากการปรับระดับบ้านพบว่าพื้นในบ้านมีระดับไม่เท่ากัน จึงทำการปรับแบบบ้านให้สอดคล้องกับสภาพจริง โดยการเทพื้นใหม่ด้วยคอนกรีตในส่วนที่เหลือ การเทพื้นคอนกรีตใช้ตะแกรงเหล็กไวร์เมชขนาด 4 มม. ตาห่าง 20x20 ซม. เพื่อเสริมความแข็งแรงของพื้นคอนกรีต
การปูพื้นใหม่
- ห้องบรรพบุรุษ ห้องโถงต้อนรับ และโถงกลางหาว ปูกระเบื้องดินเผาขนาด 33x33 ซม.อ้างอิงจากสภาพเดิมเป็นพื้นคอนกรีตตีลายตารางขนาด 33x33 ซม. และจากข้อมูลการสัมภาษณ์และบ้านในชุมชนพบว่ามีการปูกระเบื้องดินเผา ขนาด 33x33 ซม. (กระเบื้องหน้าวัว)
- ห้องครัว ซึ่งจากการปรับระดับเสาพบว่าบริเวณห้องครัวมีความต่างของระดับพื้นในส่วนหน้าห้องและหลังห้องประมาณ 45 ซม จึงจำเป็นต้องเทพื้นคอนกรีตเพื่อปรับระดับพื้นใหม่ ทับกระเบื้องซีเมนต์เดิม จึงได้ออกแบบและสั่งทำกระเบื้องใหม่ให้มีลักษณะลวดลายและสีมีความคล้ายเดิมมากที่สุด
บริเวณพื้นชั้นสองของบ้านเป็นพื้นไม้ทั้งหมด ก่อนการบูรณะพื้นได้รับความเสียหายประมาณ 70%ของพื้นทั้งหมด และจากการปรับระดับดิ่งของบ้านที่มีการล้มเอียงของบ้านไปทางด้านหลัง ทำให้จำเป็นต้องรื้อพื้นไม้ออกทั้งหมด และคัดแยกไม้เดิมที่สามารถใช้งานต่อได้ ในส่วนที่ต้องหาไม้มาเพิ่มเติมให้เลือกไม้ซึ่งเป็นไม้เก่าที่มีอายุและลักษณะรูปพันธุ์ใกล้เคียงกับไม้พื้นเดิม คือ ไม้ตะเคียนทอง ไม้หลุมพอและไม้เคี่ยม เพื่อให้ระยะหดของไม้ขยายเท่ากับไม้พื้นเดิม โดยเลือกให้ใช้ไม้พื้นเดิมของบ้านปูบริเวณส่วนห้องนอน เพื่อเป็นห้องที่สามารถรับรู้คุณค่าของบ้านเดิมไว้ให้มากที่สุด และไม้ที่หามาใหม่นำมาใช้ปูพื้นในส่วนห้องอื่นๆที่เหลือ
- ผนังอิฐก่อรับน้ำหนักชั้น 1 ผนังบริเวณชั้นหนึ่ง เป็นผนังอิฐก่อฉาบปูนและทำสี ในช่วงยุคหลัง ผู้เช่าได้ใช้งานพื้นที่บ้านชั้นหนึ่งเป็นโรงกลึง ทำให้ผนังบ้านได้รับความเสียหาย มีร่องรอยการเจาะผนังและด้วยอายุของปูนที่หมดสภาพจึงทำให้ผิวหลุดร่อนออกจากผนังอิฐก่อ จึงได้ทำการกะเทาะผนังปูนที่ผุกร่อนออกและเปิดให้เห็นอิฐก่อภายใน หลังจากนั้นจึงให้ทำความสะอาดนำฝุ่นผงออกและทาน้ำยาเพื่อป้องกันความชื้น ในส่วนของห้องครัวด้านหลังบ้าน เป็นจุดที่เมื่อทำการปรับระดับดิ่งของโครงสร้างแล้ว ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างพื้นชั้นสองและผนังรับน้ำหนักชั้นหนึ่ง จึงก่ออิฐปิดช่องว่างระหว่างพื้นชั้นสองและผนังเพื่อรับน้ำหนักโครงสร้างพื้นและผนังชั้นสอง แล้วจึงฉาบผนังด้านในใหม่ โดยระบุให้ใช้ปูนหมักซึ่งเป็นปูนใกล้เคียงกับปูนของผนังเดิม เมื่อเวลาผ่านไปผนังจะมีความกลมกลืนกัน
- ผนังไม้ชั้นสอง เป็นลักษณะของไม้ฝาตีตามนอน ซึ่งมีความชำรุดและมีสิ่งสกปรก รวมถึงความชื้นจากน้ำฝนทำให้ผนังไม้มีการผุกร่อนเกือบทั้งหมด จำเป็นต้องรื้อผนังออกและทำการคัดแยกไม้ที่สามารถใช้งานต่อได้ และทำความสะอาดไม้ ขัดสีเก่าออกด้วยน้ำยาลอกสีให้เนื้อสีเดิมออกทั้งหมด และทาด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อราจากนั้นจึงเป็นขั้นตอนของการทำสี ส่วนไม้ผนังใหม่ที่จำเป็นต้องหาเพิ่มเติม ให้ใช้ไม้ที่มีรูปพรรณใกล้เคียงกับไม้เดิม คือ ไม้ตะเคียน หลุมพอ และไม้เคี่ยม
ประตูและหน้าต่างของบ้านขุนพิทักษ์รายา ที่มีความแท้และบูรณภาพคัดแยกเป็นสามส่วนคือประตูแบบจีนฮกเกี้ยน ประตูบานเฟี้ยมหน้าบ้าน และหน้าต่างยาวรอบบ้านชั้นสอง โดยเมื่อรื้อถอนประตูหน้าต่างออกจากตำแหน่งเดิมให้จดบันทึกตำแหน่งของประตูและหน้าต่างเดิมเพื่อให้สะดวกในการติดตั้งกลับ ขั้นตอนการบูรณะประตู หน้าต่างทั้งหมด ให้ลอกสีเก่าออกทั้งหมดด้วยน้ำยาลอกสี และเก็บรายละเอียดด้วยกระดาษทราย หลังจากนั้นจึงทาด้วยน้ำยากำจัดเชื้อราและขั้นตอนของการทำสีต่อไป หากประตูและหน้าต่างมีความเสียหายให้ใช้การศัลยกรรมไม้ คือให้เปิดหน้าไม้เป็นรูปเรขาคณิตและใช้ไม้ที่มีรูปพรรณใกล้เคียงกับไม้เดิมและเป็นไม้ชนิดเดียวกันอุดตามช่องที่เปิดไว้ ฮาร์ดแวร์ของประตูและหน้าต่างได้รับความเสียหายมาก เนื่องจากฮาร์ดแวร์ทำด้วยเหล็กซึ่งจะเสียหายง่ายเมื่อบ้านตั้งอยู่ในบริเวณที่ได้รับไอทะเล เมื่อผ่านมาในระยะเวลานานทำให้เกิดสนิมไม่สามารถใช้งานต่อได้และบางส่วนได้ถูกดัดแปลงโดยผู้เช่ารายสุดท้าย ทำให้จำเป็นต้องเปลี่ยนฮาร์ดแวร์ให้มีความเหมาะสมทั้งหมด การบูรณะประตูแบบจีนฮกเกี้ยนที่มีกลไกการล็อกแบบพิเศษแต่ได้รับความเสียหายไม่สามารถใช้การได้ จำเป็นต้องซ่อมแซมกลไลให้กลับมาใช้ได้อีกครั้ง
- โครงสร้างหลังคาที่เป็นส่วนโครงสร้างหลักค่อนข้างสมบูรณ์จึงให้คงไม้เดิมไว้ทั้งหมด ส่วนที่เป็นระแนงไม้จำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด เนื่องจากได้รับความเสียหายจากความชื้น ส่วนโครงสร้างหลังคาทาน้ำยารักษาเนื้อไม้ การติดตั้งระบบกันรั่วของหลังคาให้ติดตั้งแผ่นสแตนเลสบริเวณตะเข้ราง โดยเลือกใช้สแตนเลสเพื่อป้องกันไอทะเล ในบริเวณรอยต่อหัวสันหลังคาใช้อีพ็อกซี่โป๊อุดปิดรอยต่อเพื่อป้องกันน้ำรั่วซึม
- การมุงหลังคากระเบื้องดินเผา จากการรื้อและคัดแยกกระเบื้องเดิมมีจำนวนที่สามารถใช้งานได้ 5,000 แผ่น แต่การมุงกระเบื้องทั้งหมดต้องใช้กระเบื้องจำนวน 25,000 แผ่น จึงเลือกใช้กระเบื้องเก่าบริเวณที่สามารถมองเห็นได้ชัด คือ หลังคาชุดด้านหน้าบ้าน พาลัยหน้าบ้าน และพาลัยกลางหาว เพื่อให้มีความกลมกลืนกับบริบทภายในชุมชน แต่ยังขาดกระเบื้องอีกเป็นจำนวน 20,000 แผ่น จึงจำเป็นต้องสั่งผลิตกระเบื้องขึ้นใหม่และเลือกใช้ในหลังคาส่วนที่เหลือทั้งหมด
โดยกระเบื้องทั้งสองชนิดให้ทาน้ำยากันตะไคร้น้ำ เชื้อรา สูตรน้ำ ด้านหลังของกระเบื้องเพียงด้านเดียว ทาน้ำยา 2 รอบ ระยะห่าง 1วันต่อ 1รอบ ผึ่งให้แห้ง ห้ามใช้การจุ่มกระเบื้องลงน้ำยาเด็ดขาดเพราะจะทำให้ความชื้นสะสมด้านในกระเบื้อง และให้ทำปูนปั้นทับสันหลังคาตามรูปแบบบ้านเดิม