ห้องนอน

- ห้องนอน -

การออกแบบห้องนอน ให้อยู่ในบริเวณส่วนด้านหน้าอาคารชั้นสอง โดยด้านหน้าของห้องนอนมีโถงบันไดที่แยกระหว่างห้องนอนและห้องประชุม พื้นที่ภายในห้องนอนเปิดฝ้าออกเพื่อให้เห็นโครงสร้างหลังคา และบริเวณผนังด้านข้างบ้านซึ่งติดกับบ้านข้างเคียง ได้มีการเจาะช่องเปิดสองช่องและกรุกระจก เพื่อให้เห็นลายปูนปั้นซึ่งเป็นองค์ประกอบสถาปัตยกรรมแบบจีน และยังเป็นส่วนที่สามารถบอกเล่าความรุ่งเรืองของพื้นที่ย่านหัวตลาดในสมัยอดีตได้เป็นอย่างดี จากห้องนอนมีประตูเชื่อมต่อมายังระเบียงชั้นสอง ผนังด้านติดกับกลางหาว ได้มีการออกแบบผนังให้มีช่องหน้าต่างเพื่อการระบายอากาศและเพิ่มความสว่างให้กับตัวห้อง โดยหน้าต่างออกแบบโดยการลดทอนขนาดของหน้าต่างยาวเดิมที่พบภายในบ้านและให้มีบานเกล็ดกระทุ้งเช่นเดียวกับหน้าต่างยาวเพื่อเพิ่มการระบายอากาศได้มากยิ่งขึ้นแม้จะปิดหน้าต่างไว้ พื้นของห้องนอนทั้งหมดเป็นไม้เก่าซึ่งเป็นไม้พื้นเดิมของบ้านที่ได้ทำการคัดแยกไม้ที่ยังสามารถใช้งานได้ มาใช้ปูในส่วนของห้องนอน

โครงสร้างหลังคา

โครงสร้างหลังคาภายในห้องนอนเป็นโครงสร้างแบบโบราณที่ใช้การเข้าเดือยไม้ โดยขื่อใช้ไม้วางในแนวนอนเรียกว่า สะพานหนู และไม้ที่ใช้พบร่องรอยการใช้เครื่องมือแบบโบราณโดยใช้ขวานถาก กระเบื้องมุงหลังคาแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ 1)กระเบื้องหลังเก่าของบ้านที่ได้จากการรื้อถอนหลังคาเดิม นำมาขัดล้างทำความสะอาดและคัดแยกที่ยังสามารถใช้งานได้ มาใช้ในหลังคาจั่วผืนด้านหน้าบ้านและหลังคาพาลัยชั้นสอง 2)กระเบื้องหลังคาใหม่ สั่งผลิตจากเตาเผาโบราณบ้านท่านางหอม ต.น้ำน้อย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ใช้ในส่วนหลังคาส่วนอื่นๆทั้งหมด

ช่องระบายอากาศโบราณ

ในยุคแรกของการตั้งถิ่นฐานของชาวจีนในพื้นที่ รูปแบบสถาปัตยกรรมจะอ้างอิงรูปแบบจากจีนตอนใต้ มีหน้าต่างเพียงเล็กน้อย เนื่องจากแหล่งที่อยู่อาศัยเดิมในประเทศจีนมีอากาศหนาวเย็น ทำให้รูปแบบการทำช่องระบายอากาศด้านข้างอาคารไม่นิยมเจาะช่องใหญ่เหมือนสถาปัตยกรรมในแถบคาบสมุทรมลายู ภายในบ้านขุนพิทักษ์รายาพบช่องระบายอากาศแบบโบราณบริเวณชั้นสอง 2 จุด คือบริเวณด้านข้างอาคารฝั่งที่ใช้ผนังร่วมกับอาคารข้างเคียง โดยช่องระบายอากาศจุดที่1อยู่ลึกเข้ามาด้านในอาคาร จากระยะโครงผนังรับน้ำหนักประกอบ พบว่าเป็นช่องระบายอากาศของอาคารข้างเคียงที่ถูกสร้างขึ้นก่อน ไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอก ต่อมาบ้านขุนพิทักษ์รายาซึ่งมอบให้กับลูกหลานได้ก่อสร้างเพิ่มเติมโดยใช้ผนังร่วมและก่อผนังรับน้ำหนักขึ้นต่อไปเป็นหน้าจั่ว และมีช่องระบายอากาศในจุดที่ 2 ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้จากภายนอกอาคาร

ช่องระบายอากาศแบบโบราณ

ระดับหลังคาเดิม

เส้นเฉียงด้านล่างลายปูนปั้น แสดงให้เห็นระดับหลังคาเดิมของบ้านก่อนที่จะมีการต่อเติมให้หลังคามีระดับที่สูงขึ้น ซึ่งการต่อเติมคาดว่าได้ทำเมื่อ90-100ปีก่อนหน้า ร่องรอยระดับหลังคาเดิมยังสามารถมองเห็นได้จากนอกตัวบ้านด้านฝั่งถนนปัตตานีภิรมย์ เมื่อสังเกตบริเวณหน้าบันจั่วจะเห็นร่องรอยของลายปูนปั้นเดิม ซึ่งตามสถาปัตยกรรมแบบเฉาซ่าน หน้าบันทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่วมีความหมาย คือ ธาตุไฟ

ร่องรอยของระดับหลังคาเดิมเมื่อมองจากภายใน

หากตามสถาปัตยกรรมแบบหมิ่นหนาน หน้าบันทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่วเรียกว่า “เหยินจื้อกุย” (人字规 ) ซึ่งแปลว่า หน้าบันแบบตัวอักษร “เหยิน” (人) (ศาลเจ้าจีนในกรุงเทพฯ, อภิรัชญ์)

ร่องรอยของระดับหลังคาเดิมเมื่อมองจากภายใน

ลายปูนปั้นผนังด้านหน้าจั่ว

ภายในบ้านขุนพิทักษ์รายา สามารถมองเห็นการตกแต่งลายปูนปั้นบริเวณผนังด้านหน้าจั่วของบ้านข้างเคียง ซึ่งเป็นบ้านของขุนพิทักษ์รายาเช่นเดียวกัน จากข้อมูลสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นก่อนลักษณะหน้าบันเป็นทรงโค้งมน ปั้นปูนปิดริมกระเบื้องโดยใช้การก่ออิฐถือปูน ด้านบนใช้กระเบื้องแผ่นแบนสอปูน ซ้อนทับอิฐอีกครั้งเพียงครึ่งแผ่น ส่วนที่เหลืออีกครึ่งแผ่นจะยื่นออกเป็นปีกของริมหลังคา ด้านบนฉาบปูนทับอีกชั้น ลวดลายปูนปั้นพบร่องรอยการเพ้นท์สีฝุ่น ด้วยสีน้ำเงิน แดง ดำลายปูนปั้นเป็นลวดลายมงคลตามคติจีน จากการรวบรวมข้อมูลการปั้นลวดลายตามคติจีนได้ข้อสันนิษฐานว่ามีการเลือกใช้หนึ่งในลวดลาย “ทรัพย์แปดอย่างของโป๊ยเซียน 暗八仙”ซึ่งภายในกระบี่มีการปั้นปูนเป็นรูปหนึ่งในเซียนทั้งแปด สันนิษฐานว่าเป็น หน่าไฉฮั้วโจวซือเนื่องจากรูปปั้นเป็นลักษณะของคนหาบกระเช้าดอกไม้ อยู่ท่ามกลางป่าไผ่ซึ่งเป็นลักษณะภาพของหน่าไฉที่สามารถพบเห็นได้โดยทั่วไป รอบกระบี่รายล้อมด้วยลายเมฆม้วนและหนึ่งในลายสมบัติแปดประการ (PA PAO) คือ เหรียญเงินแบบจีน ถือเป็นเครื่องหมายของโชคลาภ

ลายปูนปั้นผนังด้านหน้าจั่ว

ผ้าถักของคุณยายมล (นางวไล วัฒนายากร)

ผ้าถักผืนนี้เป็นผลงานของคุณวไลซึ่งเป็นคุณแม่ของคุณศรีสุมาลย์ สุวรรณมงคล เมื่อครั้งอดีตหากลูกหลานผ่านไปมาหน้าบ้านหลังนี้จะมองเห็นท่านนั่งถักโครเชต์อยู่ในบ้านเสมอ

หน้าต่างยาวบานเปิดกระทุ้ง

หน้าต่างภายในบ้านบริเวณโดยรอบชั้นสอง เป็นหน้าต่างยาวบานเปิดคู่ มีลูกฟักแบ่งเป็นสามช่อง ช่องบน-ล่างเป็นลูกฟักไม้ทึบ ช่องตรงกลางเป็นบานเกล็ดกระทุ้ง ทำให้สามารถใช้งานได้สามรูปแบบ ด้านในของหน้าต่างมีราวกันตกสูงจากพื้น 80 ซม. อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ของหน้าต่างเดิมเหลือเพียงบานพับเหล็กที่มีการขึ้นสนิม หน้าต่างรูปแบบนี้เป็นที่นิยมในเมืองท่าเนื่องจากได้รับอิทธิพลกับคู่ค้าในคาบสมุทรมลายู และมีความเหมาะสมกับสภาพอากาศร้อนชื้นที่จำเป็นต้องระบายอากาศได้ดี

ปิดบาน / เปิดบานแบบที่1 / เปิดบานแบบที่2

ปิดบาน / เปิดบานแบบที่1 / เปิดบานแบบที่2

พื้นไม้เดิม

พื้นไม้ภายในห้องนอนทั้งหมด เป็นไม้พื้นเดิมของบ้านที่ได้ทำการคัดแยกส่วนที่ยังสามารถใช้งานได้มาปูในส่วนห้องนอน มีลักษณะเป็นไม้เนื้อแข็ง หนา 1 นิ้ว กว้าง 6 นิ้ว